ใครว่าเป็นโรคหัวใจแล้ววิ่งไม่ได้? มาดูเคล็ดลับการวิ่งสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ
แม้จะเป็นโรคหัวใจ แต่ผู้ป่วยโรคนี้ก็สามารถวิ่งออกกำลังได้ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ เพราะการวิ่งในรูปแบบที่เหมาะสมนั้น จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยให้อาการโรคหัวใจที่มีอยู่ไม่แย่ลงไปกว่าเดิม

เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า ใครที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ อยากวิ่งออกกำลังกาย ต้องทำยังไงบ้าง
1. เตรียมกล้ามเนื้อหัวใจให้พร้อม ด้วยการวอร์มอัพก่อนลงวิ่งทุกครั้ง
การวอร์มอัพก่อนลงวิ่งเป็นสิ่งที่ห้ามละเลยเด็ดขาดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วกล้ามเนื้อหัวใจจะไม่พร้อมสำหรับการวิ่ง จึงอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
ซึ่งการวอร์มอัพสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจนั้นก็มีมากมายหลายแบบ เช่น…
1.1 อยู่ในท่านั่งพิงพนักเก้าอี้ แล้วกระดกปลายเท้าทั้งสองข้างขึ้นลงประมาณ 10 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
1.2 อยู่ในท่าเดียวกับข้อ 1.1 แต่เปลี่ยนเป็นกระดกส้นเท้าแทน
1.3 อยู่ในท่าเดียวกับข้อ 1.1 แต่ให้เตะขาออกไปช้าๆ โดยเตะออกไปด้านหน้า ทำข้างละ 10 ครั้ง
1.4 ยืนตรง ยืดแขนขึ้นข้างบนจนสุด เอามือประสานกัน แล้วค่อยๆเอาลงมาอย่างช้าๆ
1.5 ยืนตรง กางขาให้อยู่ในช่วงไหล่ นำมือประสานกัน แล้วยืดไปทางซ้ายและทางขวา โดยในการยืดครั้งนึงให้ค้างไว้ 10 วินาที แล้วค่อยเปลี่ยนไปยืดข้างใหม่

2. ช่วงแรกๆไม่ควรวิ่งนานจนเกินไป
ในช่วงแรกๆที่คิดจะวิ่ง ควรใช้เวลาแค่เพียงประมาณ 15 นาทีขึ้นไปก่อน เพื่อไม่ให้ร่างกายเหนื่อยล้าจนเกินไป หลังจากนั้นถ้าสภาพร่างกายดีขึ้น จะค่อยเพิ่มเวลาทีหลังก็ได้

3. เมื่อวิ่งเสร็จแล้ว ไม่ควรหยุดพักด้วยการนั่งนิ่งๆ
ในกรณีที่คุณวิ่งติดต่อกันแล้วอยากจะพัก ขอแนะนำว่าไม่ควรพักด้วยการนอนงีบ หรือนั่งอยู่เฉยๆ แต่ควรใช้วิธียืดเส้นยืดสายแทน เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดรวน เนื่องจากช่วงที่วิ่งนั้นหัวใจจะสูบฉีดเลือดค่อนข้างหนัก เพื่อลำเลียงเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ และการหยุดวิ่งกะทันหันแล้วไปอยู่นิ่งๆ จะทำให้ระบบปรับตัวไม่ทัน เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ นี่เป็นปัจจัยที่อันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว

4. กินอาหารเสร็จแล้ว ถ้ายังไม่ครบชั่วโมง ห้ามออกไปวิ่ง อันตรายมาก
เรื่องนี้สำคัญกับผู้ป่วยโรคหัวใจมาก คนทั่วไปอย่างมากก็อาจจะแค่ปวดท้อง จุก ถ้ากินอาหารแล้วไปวิ่งทันที แต่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจแล้ว หัวใจจะทำงานหนักเกินไป

5. หลีกเลี่ยงการกลั้นหายใจขณะวิ่ง
เพราะจะทำให้อึดอัด ขาดออกซิเจน จนไม่มีเรี่ยวแรง ดังนั้นเวลาวิ่งให้หายใจตามปรกติ หายใจช้าๆ อย่าเร่งหายใจ

6. ถ้าคิดจะวิ่งแบบจริงๆจังๆ ควรตรวจร่างกายก่อนวิ่งด้วย
เพราะว่าคนเป็นโรคหัวใจนั้นต้องระวังมากๆ หากไม่ชัวร์ว่าสภาพร่างกายพร้อมหรือไม่ แล้วลงไปวิ่งแบบยาวๆ และจู่ๆเกิดเจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อยขึ้นมา อาจจะเป็นอันตรายเกินกว่าที่ตัวเองจะคาดเดาได้ เผลอๆอาจเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันขึ้นได้ ซึ่งอาการดังกล่าวนี้ แม้ไม่ใช่คนที่เป็นโรคหัวใจ ก็สามารถประสบได้ เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด ควรไปปรึกษาหมอ ขอคำแนะนำจากหมอก่อนที่คิดจะเริ่มวิ่งแบบจริงๆจังๆ

7. ไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็ว แต่วิ่งแค่เหยาะๆ(แบบจ็อกกิ้ง) หรือวิ่งแบบค่อยๆไป ไม่ต้องเร่ง
หลายคนอาจเข้าใจว่าการวิ่งที่ดีนั้นต้องวิ่งให้เร็วเข้าไว้ แต่ความจริงคือไม่ใช่แบบนั้น การวิ่งที่ดีคือการวิ่งแบบเหมาะสมกับสมรรถภาพร่างกายของตนเอง ไม่ควรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ว่าคนอื่นเร็วเราก็ต้องเร็วด้วย และในหมู่ผู้ป่วยโรคหัวใจนั้น ก็มีร่างกายส่วนที่ไม่แข็งแรงอยู่มาก เพราะฉะนั้นถ้าออกกำลังกายแบบเกิดพิกัดของตัวเอง วิ่งเร็วมากเกินไป ก็เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายได้

สรุปแล้ว การวิ่งออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกคน แม้ในคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ขอแค่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง รู้จักประมาณตน ไม่หักโหมจนเกินไป เพียงเท่านี้การวิ่งก็จะเป็นยาวิเศษอย่างหนึ่งต่อโรคหัวใจได้เลยทีเดียว